วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็กปฐมวัย

การฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัยเพราะเป็นช่วงเวลาที่เซลล์สมองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งเด็กได้ใช้ความคิดมากเท่าไร ใยประสาทก็จะยิ่งเจริญเติบโตมากเท่านั้น
            กิลฟอร์ดนักจิตวิทยาชาวอเมริกาได้อธิบายว่า การคิดสร้างสรรค์ เป็นความสามารถทางสมองที่คิดได้กว้างไกลหลายทิศทาง ประกอบด้วย
1.      ความคิดริเริ่ม คือ มีความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่างไปจากความคิดแบบเดิมๆ ชอบปรับปรุงเปลี่ยนแปลง กล้าคิดกล้าแสดงออก
2.      ความคิดคล่องตัวคือ ปริมาณความคิดที่มีหลากหลายคำตอบในเรื่องเดียวกัน และการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
3.      ความคิดยืดหยุ่น คือ รูปแบบการคิดที่ไม่ตายตัว คิดได้หลายประเภทหลายทิศทางและหลายแง่หลายมุมอย่างอิสระ
4.      ความคิดละเอียดลออ คือ การให้รายละเอียดต่อความคิดนั้นได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน  สามารถผสมผสานทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
         คุณครูสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้ โดยการตั้งคำถามปลายเปิดง่าย ๆ เช่น ถ้าพูดถึงสีเขียว เด็ก ๆ จะนึกถึงอะไรบ้าง ซึ่งคำตอบที่หลากหลายของเด็ก ๆ สามารถแสดงถึงทักษะการคิดในทิศทางต่าง ๆ กัน เด็กที่นึกถึงสิ่งที่มีสีเขียวได้หลายชนิด เช่น ใบไม้ ผัก ฝรั่ง มะม่วง องุ่น ต้นหญ้า ฯลฯ และตอบได้รวดเร็วย่อมแสดงถึงทักษะการคิดคล่องตัว ในขณะเดียวกัน เด็กบางคนที่มีทักษะในการคิดยืดหยุ่นสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีเข้ากับคำถามและให้คำตอบที่ต่างออกไป เช่นนึกถึงทหาร ความร่มเย็น ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น ฉะนั้นการตั้งคำถามให้เด็กตอบ แล้วช่วยชี้นำให้เขาฝึกคิดอย่างรอบด้านเป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้เป็นอย่างดี
         ถึงเวลาแล้วที่คุณครูจะต้องช่วยกันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอย่างจริงจัง โดยการกระตุ้นให้พวกเขาได้ลองคิด ทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ เพื่อฝึกคิดให้กว้างไกลหลายทิศทาง ซึ่งเป็นการสร้างฐานพลังทางความคิดอันนำไปสู่การรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ต่อไป



การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย



ผู้แต่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ


การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในสมองเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่การฝึกสมองให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่เรื่องของการจำอย่างเดียว เพราะถึงแม้การจำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานของสมองที่จะต้องมีการจำความรู้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป บางครั้งการจำไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่อาจไปสกัดกั้นการทำความเข้าใจเนื้อหาของความรู้ ความจริงแล้วการฝึกให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด เพราะถ้าหากสมองคิดเป็นก็เรียกได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าเราจะต้องจัดการเรียนรู้หรือจัดสิ่งกระตุ้นให้มากพอที่สมองจะได้ฝึกคิด การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้
รูปแบบการเรียนรู้ปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรุกนั้นคือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ รู้จักคิดตั้งคำถามและคิดค้นหาคำตอบ ให้โอกาสผู้เรียนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และหาข้อสรุป และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เรียนฝึกฝนการคิดคือมีทักษะการคิด ลักษณะการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นผลมาจากนักการศึกษาในปัจจุบันได้นำเอาความรู้ในเรื่องการคิดและการเรียนรู้ทางจิตวิทยาและทางชีววิทยามาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการคิดของเด็กในชั้นเรียนเพื่อเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป
เด็กอายุ 8 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการคิดและการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวของเขา เรารู้ข้อมูลเหล่านี้จากนักจิตวิทยาโดยเฉพาะนักจิตวิทยาการเรียนรู้ ระหว่างศตวรรษที่ 20 คำถามสำคัญคือ การคิดของเด็กเล็ก ๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่ หรือมันเป็นการขาดประสบการณ์ของเด็กหรือไม่ สำหรับประเด็นที่ว่า เด็กเรียนรู้อย่างไร ได้ศึกษาโดยนักการศึกษา นักปรัชญา นักจิตวิทยา เช่น พาฟลอฟ ทอนไดค์ สกินเนอร์ ให้ความสำคัญในอิทธิพลของแนวทางที่เน้นการสอน (เด็กถูกสอน) ประมาณ ค.ศ. 1950-1959 นักจิตวิทยาและนักการศึกษาให้ความสำคัญมากในการเรียนอย่างเข้มข้น ต้องการการเสริมแรง และเชื่อว่าหลักการเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานการกระตุ้นและการตอบสนอง
พิอาเจท์และอินเฮลเดอร์ (Piaget and Inhelder. 1969 : 58) อธิบายว่า การคิดหมายถึง การกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญา การคิดของเด็กเป็นกระบวนการใน 2ลักษณะคือ เป็นกระบวนการปรับโครงสร้างโดยการจัดสิ่งเร้าหรือข้อความที่ได้รับจริงให้เข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่กับกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการปรับความจริงที่รับรู้ใหม่ให้เข้ากับประสบการณ์เดิม เด็กใช้การคิดทั้งสองลักษณะนี้ร่วมกันหรือสลับกันเพื่อปรับความคิดของตนให้เข้าใจสิ่งเร้ามากที่สุด ผลของการปรับเปลี่ยนการคิดดังกล่าวช่วยพัฒนาวิธีการคิดของเด็กจากระดับหนึ่งไปสู่การคิดอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า ไอแซคส์ (Isaacs)ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจากการศึกษาของเขาโดยการสังเกตและจดบันทึก โดแนลด์สัน (David.1999: 2-3 ;citing Donaldson.nd) อธิบายว่า ปัญหาการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความล้มเหลวในการเรียนรู้ได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรจะบรรลุความสำเร็จที่จะเข้าใจความคิดและภาษาของเด็ก และอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กทำให้เด็กเกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การคิดเป็นนามธรรมต่อไป เด็กจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง
ภาษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจ บรูเนอร์ (Bruner. 1993) และไวกอตสกี้ (Vygotsky. 1978) ให้ความสำคัญเรื่อง ภาษา การสื่อสาร และการสอนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางสติปัญญา และพัฒนาการส่วนบุคคล การแสดงออกของผู้ใหญ่ในฐานะผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ (Scaffolding)จะทำให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัวของเขา เด็กบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่สามารถจำประสบการณ์ของตนได้ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอาจทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง
บรูเนอร์ (Bruner) พัฒนาแนวคิดของ เนลสัน (Nelson) เกี่ยวกับความคิดเรื่อง ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ (Scaffolding) การเรียนรู้ของเด็กและไวกอตสกี้ (Vygotsky) ค้นพบเรื่อง “Zone of Proximal Development” เพื่ออธิบายช่องว่างระหว่างสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองและสิ่งที่เด็กสามารถประสบความสำเร็จด้วยการช่วยเหลือของคนอื่นส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดเพิ่มขึ้น ระดับการคิดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการใช้ภาษาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางวัฒนธรรม ไวกอตสกี้อธิบายว่าความสำเร็จจากความร่วมมือคือพื้นฐานการเรียนการสอนโดยบุคคลที่มีความรู้มากกว่าเป็นตัวเสริมให้ระดับการคิดของเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มันเป็นการค้นพบว่า เมื่อเด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นในกิจกรรมการคิดแก้ปัญหาทำให้เด็กประสบความสำเร็จถึงวิธีการแก้ไขได้ดีกว่าที่เขาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือมักเกิดขึ้นในหลาย ๆ สถานการณ์การเล่น โดยการที่เด็กเล่นไปด้วยกันและทดลองแนวคิดใหม่พร้อมกับใช้ทักษะการคิดหลายด้าน เด็กสามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ด้วยการใช้ทักษะการคิดหลาย ๆ ด้าน บรูเนอร์อธิบายว่า มันเป็นสถานการณ์การเล่นที่เด็กเล็กสามารถทดสอบความคิดของตนเองและความรู้ที่มีอยู่โดยเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ แม้ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ แต่ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลการเรียนรู้คือ แรงจูงใจ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากความสนใจของเด็กและแรงจูงใจภายใน จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งการเรียนรู้ (David. 1999 : 4-5) บทบาทของผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้มากกว่าในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดสูงขึ้น
สรุปได้ว่าการคิดและการเรียนรู้ตามแนวคิดทางจิตวิทยามีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาโดยตลอด แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน คือ แนวคิดของพิอาเจท์ (Piaget) บรูเนอร์ (Brunner) และไวกอตสกี้ (Vygotsky) รูปแบบการเรียนการสอนจึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยครูสามารถจัดกิจกรรมให้เด็กได้สืบค้นและทดลอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำด้วยการคิด ผู้เรียนมีโอกาสได้แสดงออกในการคิดใช้ทักษะการคิด เรียนรู้แบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง บทบาทครูในฐานะผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ครูควรใช้คำถามที่มีความหมายให้คำอธิบาย พูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

จาก http://www.e-child-edu.com/youthcenter/content/articles/thinking-learning-of-child.html

การพัฒนาการคิดเด็กปฐมวัยตามแนวคิดไฮ-สโคป

การพัฒนาการคิดเด็กปฐมวัยตามแนวคิดไฮ-สโคป

การพัฒนาการคิดตามแนวไฮ-สโคป
 ปัจจุบันความเจริญทางเทคโนโลยีทำให้สังคมพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีปัญหาความซับซ้อนมากขึ้น การที่บุคคลจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาซึ่งเกิดจากการได้รับประสบการณ์และการฝึกฝน โดยเฉพาะการคิดของเด็กปฐมวัย เพราะเด็กวัยนี้จะพัฒนาทางสมองอย่างรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดั้งนั้นจึงควรเริ่มปลูกฝังการคิดและแก้ปัหาที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันการพัฒนาการคิดในเด็กปฐมวัยมักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเห็นได้จากการประเมินของสมศ. มาตารฐานด้านที่4 คือการคิดของเด็กยังตำ ยังควรต้องส่งเสริมและพัฒนา ครูจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องช่วยกระตุ้นและจัดประสบการณ์ที่ช่วยพัฒนาด้านการคิดให้แก่เด็กอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาแนวคิดหลักการที่จะพัฒนาพบว่ากระบวนการตามแนวคิดของไฮ-สโคปมีความน่าสนใจ สามารถพัฒนาได้ไม่ยากโดยหลักการมี 3ขั้นตอนคือ 1. การวางแผน (Plan)คือการเลือกตัดสินใจก่อนลงมือปฏิบัติ 2. การปฏิบัติ (DO )คือการปฏิบัติตามที่วางแผนไว้เด็กได้มีส่วนร่วมวางแผน ช่วยเหลือ สามัคคี แก้ปัญหาร่วมกันและลงมือปฏิบัติจากประสบการณ์ตรง 3. การทบทวน ( Review)เป็นการนำเสนอสิ่งที่กระทำ ฝึกการเล่าเรื่อง กล้าแสดงออก ได้สำรวจหรือปรับปรุงแผนงานที่วางไว้เป็นทักษะที่นำไปใช้ได้ในชีวิต จากกิจกรรมนี้เด็กจะเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ได้รับเป็นรูปธรรมด้วยการคิด สังเกตและไตร่ตรองอย่างมีระบบ เด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาจากการลงมือกระทำอย่างมีแผน มีลำดับด้วยการสัมผัสจากการกระทำด้วยมือสร้างพื้นฐานของการอยากเรียนรู้ เด็กจะสนุกและมีความสุขในการเรียน เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมีการแลกเปลี่ยนความคิด ทบทวนงานของตน เป็นการกระตุ้นให้เด็กสร้างความรู้ด้วยตนเอง  ครูเป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้นเร้าให้เกิดการดำเนินกิจกรรม จัดเตรียมอุปกรณ์ ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำเมื่อเด็กต้องการปรึกษา  ข้าพเจ้าได้นำแนวคิดดังกล่าวไปจัดทำเป็นแผนการจัดประสบการณ์ โดยได้ศึกษาค้าคว้าและขอคำแนะนำจากท่านผู้อำนวยการ เพื่อนครูและท่านศึกษานิเทศ และได้นำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 14 คน เป็นระยะเวลา 2 ภาคเรียน พบว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านกระบวนการคิดดีขึ้นตามลำดับ นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น กล้าแสดงออก กล้าพูดและเสนอความคิดเห็นได้ดี โดยครูจดบันทึกการแสดงความคิดของนักเรียนลงในแผนที่ระดมความคิดทุกครั้งที่จัดกิจกรรม พบว่านักเรียนมีความคิดที่หลากหลายมากขึ้น และสนุกที่จะเรียนรู้ 
   ข้าพเจ้าได้นำแผนการจัดประสบการณ์ดังกล่าวไปจัดแสดงและนำเสนอในที่ต่างๆเช่นการจัดนิทรรศการทางวิชาการที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย การนำผลงานที่เกิดจากนักเรียนไปจัดแสดงในกิจกกรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการความรู้ ( KM)ที่จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.ชลบุรี  รวมทั้งได้นำเสนอแก่คณะศึกษาดูงาน  จากจังหวัดต่างๆก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี
  ดังนั้นการพัฒนาการคิดเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องยาก หากครูเข้าใจ  ให้โอกาส ส่งเสริมพัฒนาโดยเน้นให้เด็กเป็นผู้คิด ปฏิบัติ และทบทวนงานของตนอย่างอิสระจะช่วยพัฒนาความสามารถด้านกระบวนการคิดของเด็กให้ดีขึ้นได้และช่วยพัฒนาการได้อื่นควบคู่ไปได้อีกด้วย เด็กของคุณก็จะมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ต้องการ
จาก  http://www.edu.nu.ac.th/onesqa/data/plan/%C7%D4%C9%B3%D8%20%A8%D1%B9%B7%CB%CD%C1.pdf

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning)
สำหรับเด็กปฐมวัย
               ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์  คือ  แรกเกิดถึง   7 ปี  หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่  ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก  ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น  เรียนรู้อย่างมีความสุข  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม  ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม  เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
                สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ  สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
                การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ
1.)การทำงานของสมอง
 2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา  ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง  ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ
การทำงานของสมอง
                สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่  สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่  หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท  ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก  ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
                สมองประกอบด้วย เซลล์สมองจำนวนกว่า 1  แสนล้านเซลล์  ลักษณะของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะมีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นเส้นใยสมองแตกแขนงออกมามากมายเป็นพัน ๆ เส้นใยและเชื่อมโยงต่อกับเซลล์สมองอื่น ๆ  เส้นใยสมองเหล่านี้เรียกว่า แอกซอน (Axon)และเดนไดรท์ (Dendrite)จุดเชื่อมต่อระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ เรียกว่า ซีนแนปส์ (Synapses)เส้นใยสมองแอกซอนทำหน้าที่ส่งสัญญาณกระแสประสาทไปยังเซลล์สมองที่อยู่ถัดไป  ซึ่งเซลล์สมองบางตัวอาจมีเส้นใยสมองแอกซอนสั้นเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ชิดกัน  แต่บางตัวก็มีเส้นใยสมองแอกซอนยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองตัวถัดไปที่อยู่ห่างออกไป  ส่วนเส้นใยสมองเดนไดรท์เป็นเส้นใยสมองที่ยื่นออกไป อีกทางหนึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณกระแสประสาทจากเซลล์สมองข้างเคียงเป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เซลล์สมองและเส้นใยสมองเหล่านี้จะมีจุดเชื่อมต่อหรือซีนแนปส์(Synapses)เชื่อมโยงติดต่อถึงกันเปรียบเสมือนกับการเชื่อมโยงติดต่อกันของสายโทรศัพท์ตามเมืองต่าง ๆ นั้นเอง
                จากการทำงานของเซลล์สมองในส่วนต่าง ๆ  ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้นั้นคือ  เกิดการคิด  กระบวนการคิด  และความคิดขึ้นในสมอง  หลังเกิดความคิดก็มีการคิดค้นและมีผลผลิตเกิดขึ้น  ยิ่งถ้าเด็กมีการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้และการคิดมากเท่าไร  ก็จะทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น  ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นโดยไปเพิ่มขนาดของเซลล์สมองจำนวนเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง  สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กพบว่า  ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา  10 ปีแรก  ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ  การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง  และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก  ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
                  สมองมีหลายส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันแต่ทำงานประสานกัน  เช่นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ  และรับรู้การเคลื่อนไหว สี รูปร่างเป็นต้น  หลายส่วนทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง  เช่น  การมองเห็นลูกเทนนิสลอยเข้ามา  สมองส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว สี  และรูปร่าง  สมองจะอยู่ในตำแหน่งแยกห่างจากกันในสมองแต่สมองทำงานร่วมกันเพื่อให้เรามองเห็นภาพได้  จากนั้นสมองหลายส่วนทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้เราเรียนรู้และคิดว่าคืออะไร  เป็นอย่างไร  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สมองสามารถเรียนรู้กับสถานการณ์หลาย ๆ แบบพร้อม ๆ กันโดยการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เช่น สมองสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์เชื่อมโยงกันได้  การทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะระบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อน  มีหลายชั้นหลายระดับ  และทำงานเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีเครือข่ายในสมองเชื่อมโยงเซลล์สมองถึงกันหมด  เครือข่ายเส้นใยสมองเหล่านี้เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้ว  ดูเหมือนว่าจะอยู่ไปอีกนานไม่มีสิ้นสุด  ช่วยให้สมองสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ทั้งในส่วนย่อยและส่วนรวม  สามารถคิดค้นหาความหมาย  คิดหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ของการเรียนรู้และพัฒนาความคิดใหม่ ๆ ออกมาได้อีกด้วย
                  นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า  ความเครียดขัดขวางการคิดและการเรียนรู้  เด็กที่เกิดความเครียดจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจทำให้เกิดความหวาดกลัว  เครียด  บรรยากาศการเรียนรู้ไม่มีความสุข  คับข้องใจ  ครูอารมณ์เสีย  ครูอารมณ์ไม่สม่ำเสมอเดี๋ยวดี  เดี๋ยวร้าย  ครูดุ  ขณะที่เด็กเกิดความเครียด  สารเคมีทั้งร่างกายปล่อยออกมาจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง  ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด  เรียกว่า  คอร์ติโซล (Cortisol)  จะทำลายสมองโดยเฉพาะสมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือพื้นผิวสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด  ความฉลาด  กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ  ซึ่งความเครียดทำให้สมองส่วนนี้เล็กลง  เด็กที่ได้รับความเครียดอยู่ตลอดเวลา  หรือพบความเครียดที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้  ส่งผลต่อการขาดความสามารถในการเรียนรู้  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  เพราะเด็กมีสมองพร้อมที่จะเรียนได้  แต่ถูกทำลายเพราะความเครียดทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ได้หายไปตลอดชีวิต
การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
                การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองและการทำงานให้ประสานสัมพันธ์ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา  สมองซีกซ้ายควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์  ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นด้านศิลปะ  จินตนาการ  ดนตรี ระยะ/มิติ หากครูสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้ใช้ความคิดโดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันให้สมองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะสามารถสร้างผลงานได้ดีเยี่ยม เป็นผลงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลผสมผสานในผลงานชิ้นเดียวกัน
                หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆดังนี้ 
               1. การเคลื่อนไหวของร่างกาย  ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆที่เราต้องการ  หรือพวกนักกีฬาต่างๆ
               2. ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟัง  การอ่านและการเขียน  เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ  ฟังเรื่องราวต่างๆที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ  เล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน  เล่าจบตั้งคำถามหรือสนทนากับลูกเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน  อ่านคำจากป้ายประกาศต่างๆที่พบเห็น  ให้เด็กได้วาดภาพสิ่งที่เขาได้พบเห็นหรือเขียนคำต่างๆที่เขาได้พบเห็น  
               3. การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน  เรียนรู้ขนาด ปริมาณ  การเพิ่มขึ้นลดลง  การใช้ตัวเลข
               4. มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง  เรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ตรง  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ  ขนาดตำแหน่ง  และการมองเห็น  สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว  เข้าใจสิ่งที่มองเห็นได้สัมผัส  สามารถนำสิ่งที่เข้าใจออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
               5. ดนตรีและจังหวะ  ให้เด็กได้ฟังดนตรี แยกแยะเสียงต่างๆ  ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี  ฝึกให้เด็กรู้จักจังหวะดนตรี
               6. การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  ฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น  เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น  ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา
               7. การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม
               8. การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
สารอาหารบำรุงสมอง
                อาหาร 5 หมู่มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น โดยเฉพาะทารกในครรภ์  อาหารจะเข้าไปช่วยสร้างเซลล์สมอง  เมื่อคลอดออกมาแม่ต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่เช่นเดิม  เมื่อลูกโตขึ้นปริมาณของน้ำนมของแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องให้อาหารเสริม  ถ้าขาดสารอาหารเซลล์สมองจะเติบโตช้าและมีจำนวนน้อยลง  เส้นใยประสาทมีการสร้างไม่ต่อเนื่อง
                ตับและไข่  เด็กปฐมวัยต้องการธาตุเหล็กจากตับหรือไข่ ถ้าเด็กไม่กินตับหรือไข่  และหรือกินในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความจำและสมาธิด้อยลง
                ปลา  สารจากเนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วยสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดร์  ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง อธิบายได้ว่าทำให้เด็กเข้าเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว
ควรให้เด็กรับประทานเนื้อปลาทุกวันหรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเนื้อปลาทะเลเช่น ปลาทู  ปลากระพง และปลาตาเดียว เป็นต้น
                ผักและผลไม้  ผักที่มีสีเขียว  เหลืองหรือแดง  อาหารเหล่านี้ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆทั่วทั้งร่างกายและวิตามินเอทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการพัฒนาสมอง
                วิตามินและเกลือแร่ ช่วยในการทำงานของเชลล์ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เชลล์สมองมีการทำงานลดลงและเชื่องช้าจะกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
                ปลา ไก่ หมู นมและอาหารทะเล อาหารเหล่านี้มีแร่ธาตุต่างๆเช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซี่ยม  สังกะสี  ฟอสฟอรัสและไอโอดีน  มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง
                ผักตระกูลกะหล่ำ(ทำให้สุก) ข้าวสาลี และน้ำนมแม่ สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้
                การพัฒนาศักยภาพทางสมองของเด็ก ขึ้นกับ อาหาร  พันธุกรรม  สิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีโอกาสได้ใช้ความคิดอยู่เสมอ  ให้เด็กมีโอกาสคิดในหลากหลายแบบเช่น คิดแสวงหาความรู้  คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  คิดกว้าง คิดไกล  คิดเชิงอนาคต  คิดนอกกรอบ  ผู้ปกครองหรือครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขในขณะที่ฝึก  สมองจึงจะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

 จาก  http://learners.in.th/blog/namphung/389090

การพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย..

การพัฒนาสมองเด็กปฐมวัย..

เด็กปฐมวัย
คือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ การอบรมและเลี้ยงดูแก่เด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพราะสมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง 2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก 3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ

“ ฉันฟัง ฉันลืม

ฉันเห็น ฉันจำได้

ฉันได้ทำ ฉันเข้าใจ”
ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา ต้องฝึกให้ใช้สมองมากอย่างมีความสุข ไม่ให้เครียด

จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=khunda&month=16-02-2010&group=1&gblog=1